วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ตีกลอง สมอง ทำงานอย่างไร?

By EaddyDrum

        เคยสงสัยไหมว่า... การตีกลองสามารถช่วยเสริมสร้างพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของสมองได้อย่างไร? 

        สมองเป็นอวัยวะที่สำคัญมากสำหรับมนุษย์ มีหน้าที่คอยควบคุมและสั่งการการเคลื่อนไหว ควบคุมพฤติกรรม ประมวลการรับรู้ อารมณ์ ความจำ และการเรียนรู้การเคลื่อนไหว ซึ่งการตีกลองมีผลต่อการทำงานของสมองในแต่ละส่วน ดังต่อไปนี้




     สมองกลีบหน้า (Frontal lobe)
        สมองกลีบหน้า (Frontal lobe) จะคอยควบคุมและสั่งการความเคลื่อนไหวของร่างกายในขณะตีกลอง โดยเมื่อมีการกระตุ้นสมองซีกซ้ายจะมีการเคลื่อนไหวร่างกายซีกขวา และในขณะเดียวกันเมื่อมีการกระตุ้นสมองซีกขวาก็จะมีการเคลื่อนไหวร่างกายซีกซ้าย นอกจากนี้สมองส่วนนี้ยังเป็นศูนย์ควบคุมความคิด การวางแผน และการตัดสินใจ จึงทำให้เราสามารถควบคุมตนเอง ประเมินความสามารถ และรู้ขีดจำกัดของตนเองได้




    สมองกลีบข้าง (Parietal lobe)
        ทุกครั้งที่มือสัมผัส ตามองเห็น และหูคุณได้ยินเสียงขณะตีกลองชุดนั้น สมองกลีบข้าง (Parietal lobe) จะทำหน้าที่หลักในการประมวลผลการรับความรู้สึกของมือที่กำลังจับไม้กลอง ประมวลผลจากเสียงกลองที่ได้ยิน คำนวณระยะห่าง อีกทั้งยังประมวลภาพการแยกแยะขนาดรูปร่างและสี สมองส่วนนี้จึงเป็นส่วนที่คอยประสานและประมวลข้อมูลการรับความรู้สึกต่างๆของร่างกายในขณะตีกลอง




    สมองกลีบขมับ (Temporal lobe) 

        สมองกลีบขมับ (Temporal lobe) ทำหน้าที่ในการรับความถี่เสียง ประมวลผล และแปลความถี่จากเสียงที่ได้ยิน ทำให้เกิดเป็นระดับความสูง-ต่ำ-สั้น-ยาวของเสียง และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้เราสามารถได้ยินเสียงกลองอย่างเป็นจังหวะ





    สมองกลีบท้ายทอย (Occipital lobe)

        สมองกลีบท้ายทอย (Occipital lobe) ทำหน้าที่ในการรับภาพที่ส่งมาทางตา แปลภาพที่เห็นให้เป็นความหมาย ทำให้เราสามารถเห็นและแปลภาพตัวโน๊ตได้อย่างเข้าใจถึงความหมาย พร้อมทั้งจัดเก็บภาพที่เห็นไว้ในความทรงจำ





    สมองเล็ก (Cerebellum)

        หลายครั้งที่เรามักตีจังหวะขึ้นมาเองได้โดยไม่ต้องคิดอะไร นั่นเป็นเพราะว่ ร่างกายของเรานั้นเกิดการจดจำจากการฝึกฝนซ้ำๆ ทำอย่างสม่ำเสมอ โดยส่วนสำคัญที่ทำให้เรามีการเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว ก็มาจากการที่สมองเล็ก (Cerebellum) ทำหน้าที่ ประสานส่วนต่างๆให้ทำงานอย่างประสานสัมพันธ์กัน ทำให้ร่างกายและกล้ามเนื้อเกิดความสมดุลเพื่อรักษาการทรงตัวขณะเคลื่อนไหวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังทำให้กล้ามเนื้อมัดเล็กๆ สามารถเคลื่อนไหวได้ตามต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ




        ราจะสังเกตได้ว่า การตีกลองนั้นทำให้เกิดการทำงานของทุกพื้นที่ในสมอง เราจึงได้ใช้สมองครบทุกส่วนอย่างเต็มประสิทธิภาพในขณะตีกลองชุด รวมไปถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วย



        การตีกลองนั้นสามารถฝึกกันได้ทุกเพศทุกวัย  เพราะสมองของคนเรานั้น สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ตลอดชีวิต ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญกับการฝึกฝนอย่างมีวินัย “หากพรสวรรค์มีไม่มากก็ต้องสร้างมันด้วยพรแสวง”
        
        ยังมีความรู้เกี่ยวกับกลองชุดอีกมากมายที่ Eaddy Drum ได้ถ่ายทอดออกมาทั้งจากประสบการณ์และบทความวิจัยต่างๆ ที่ได้ค้นคว้า คัดสรรมาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาด้านกลองชุด ซึ่งทุกท่านสามารถติดตามความรู้ ข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลองชุด ได้ที่เพจ Eaddy Drum



เพื่อเป็นกำลังใจให้ Eaddy Drum ได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นต่อๆไป
ฝากแสดงความคิดเห็น กดถูกใจ และติดตามเพจด้วยนะครับ 💙